ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักการแพทย์
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร 0 2622 5047 โทรสาร 0 2224 2969

Description: D:\พี่จ๋า(พรเพ็ญ)\Bangkok Health Fair\Bangkok Health Fair 2010\BHF 2010 - 1 ต.ค. 53 - 2\BHFอื่นๆ\logo ทั้งชีวิต...เราดูแล\Logo ทั้งชีวิต เราดูแล.jpg

เสริมศักยภาพ รับมือสังคมผู้สูงอายุกระดูกหักซ้ำจากโรคกระดูกพรุน

          (29 ก.ย. 60) เวลา 08.30 น. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ Capture The Fracture (CTF) ซึ่งสำนักการแพทย์ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการของโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ รวม 78 คน มีความรู้และความเข้าใจในการดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกันด้วยทีมสหสาขาวิชาชีพ นำแนวทางปฏิบัติของแต่ละวิชาชีพมาเชื่อมโยงให้เกิดความครบถ้วนของภาพรวมในการดูแลรักษาผู้ป่วยกระดูกหักซ้ำ โดยมี นพ.พิชญา นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ คณะผู้บริหารสำนักการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดการประชุม ณ ห้องประชุมเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ชั้น 20 อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงพยาบาลกลาง

          รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองใหญ่ มีประชากรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประชากรวัยสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีโรคกระดูกพรุนที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ การเจ็บป่วยกะทันหัน และอาจนำไปสู่ความพิการได้ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างดีเสมอมา การจัดประชุมวิชาการฯ ในวันนี้ถือเป็นการเตรียมบุคลากรในองค์กรให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้สละเวลามาร่วมกันระดมความคิด แบ่งปันประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่มารับบริการ และบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

          ผอ.สำนักการแพทย์ กล่าวว่า Capture the Fracture (CTF) เป็นโครงการที่ทาง International Osteoporpsis Foundation (IOF) กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำในผู้ป่วยกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ทั้งนี้ ปัจจุบันการเกิดโรคกระดูกพรุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยโรคกระดูกพรุนพบมากในผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปี ขึ้นไป โดยจากสถิติทั่วโลกพบว่า 1 ใน 3 ของเพศหญิง และ 1 ใน 5 ของแพทย์ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี และเคยมีประวัติกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาหรือตรวจหาสาเหตุตั้งแต่เริ่มแรก รวมถึงการได้รับการดูแลที่ไม่ถูกต้อง ล่าช้า หรือไม่ต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดกระดูกหัก เดินไม่ได้ หรือนอนติดเตียง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ ปอดติดเชื้อ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แผลกดทับ และเสียชีวิตได้
รูปภาพและบรรยากาศในงาน